0
Cart: $0.00

พระบฏวัดทุ่งม่านเหนือจัดเป็นศิลปะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 – 25 เขียนบนผืนผ้าจำนวน 16 ผืน เป็นภาพเล่าเรื่องโดยเขียนเรื่องราวของเวสสันดรชาดก ข้อมูลของช่างเขียนไม่อาจทราบได้แน่ชัด ความโดดเด่นของรูปแบบพระบฏชุดนี้ คือ การรับเอาอิทธิพลรูปแบบจิตรกรรมไทยประเพณีมาเป็นแบบในการเขียน ตั้งแต่การจัดวางองค์ประกอบศิลป์ที่มีความลงตัว การลำดับภาพของฉาก การแบ่งฉากคั่นด้วยเนินผา ดิน แม่น้ำ กำแพงและหิน รวมถึงลายเส้น รูปแบบของตัวภาพและวัตถุต่างๆก็เป็นอิทธิพลของจิตรกรรมไทยประเพณี เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่น ซึ่งเลือกใช้คู่สีหลักของภาพเป็นสีน้ำเงินและสีแดงทำให้ภาพมีสีสันและโดดเด่นเป็นอย่างมาก ฉากหลังส่วนใหญ่มักไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างตามแบบจิตรกรรมไทยประเพณี มีการระบายแบบ ไล่สีอ่อนเข้มซึ่งเป็นเทคนิคสมัยที่เข้ามาทำให้ภาพมีมิติมากยิ่งขึ้น ส่วนการเขียนลายเส้นหรือการตัดเส้นนั้นมีความประณีตมาก ช่างตัดเส้นด้วยเส้นเล็กและคมโดยใช้สีแดงเป็นส่วนใหญ่ บางแห่งก็พบว่าตัดเส้นด้วยสีดำ มีการใส่รายละเอียดของตัวภาพและวัตถุอื่นๆ ทั้งสถาปัตยกรรม ต้นไม้ และก้อนเมฆ  นอกจากรูปแบบการวาดแบบจิตรกรรมไทยประเพณีที่ปรากฏในงานแล้ว ลักษณะของงานสถาปัตยกรรม เครื่องทรงของกษัตริย์รวมถึงการแต่งกายของทหารพร้อมทั้งเหล่าข้าราชบริพารก็เป็นแบบไทยภาคกลาง ผสมผสานกับภาพวิถีชีวิตวัฒนธรรมของล้านนาที่สอดแทรกลงไปในงานจิตรกรรม จะสังเกตว่าเหล่าสตรีในภาพส่วนใหญ่นั้นช่างก็ยังคงวาดให้แต่งกายแบบล้านนาอยู่ เป็นการนุ่งซิ่นลายขวาง เปลือยอกและห่มผ้า ทำผมเกล้ามวย 



พระพุทธเจ้าสามพระองค์ วัดทุ่งม่านเหนือ
Read more
ภาพที่ 3 พระพุทธเจ้าสามพระองค์

+