0
Cart: $0.00

ผ้ายันต์พระสิหิงค์หรือยันต์พระสิหิงค์หลวงคือผ้ายันต์ที่มีลักษณะเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่ บรรจุรูปภาพและอักขระยันต์เต็มผืนในรูปมัณฑละวงกลมซ้อนกันเป็นชั้น ๆ  ประกอบด้วยวงกลมกึ่งกลางที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ล้อมรอบด้วยวงกลมอีก 2 วง แบ่งเป็น 12 ช่องหรือ 12 ราศี คั่นด้วยแถบคาถาต่าง ๆ  เช่น โยสินิสิโน ทุกขันเต มหันตาภิกขุสังเฆนะ และปฐมัง เป็นต้น ลงสีหลายสี และมักมียันต์หรือคาถาต่าง ๆ ประกอบอยู่โดยรอบจนเต็มผืน การสร้างผ้ายันต์พระสิหิงค์มีขั้นตอนการปลุกเสกซับซ้อนไม่น้อยไปกว่าการสร้างพระพุทธรูปสำริดองค์หนึ่ง การลงอักขระคาถากำกับต้องแม่นยำ เมื่อจะแต้มหรือวาดเรื่องใดต้องให้สอดคล้องกัน 3 อย่างกล่าวคือ วันและยามที่จะวาด ตำแหน่งบนผืนผ้าตามนักษัตรทั้ง 12 ราศี และรูปภาพที่จะปรากฏ ได้แก่ รูปพระพุทธสิหิงค์พร้อมพุทธสาวก พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธ พระอุบาลี พระอุปคุต ทิพยเทพ เทวา ยักษ์ สัตว์มงคลที่ปรากฏในพุทธประวัติ และเหล่าสัตว์วิเศษนานา

แต่เดิมนั้นชาวล้านนาไม่นิยมนำพระพุทธรูปเข้าบ้าน สิ่งที่ใช้กราบไหว้บูชาที่บ้านหรือนำติดตัวไปแทนพระพุทธรูปก็คือผ้ายันต์เช่นผ้ายันต์พระสิหิงค์ ซึ่งเชื่อว่าสามารถป้องกันภัยอันตรายทั้งปวงได้ ตลอดจนมีคุณในด้านเมตตามหานิยม อีกทั้งยังแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่นการตามหาของหาย หรือการจับโจรจับขโมย เป็นต้น ในตำราโบราณยังระบุว่าหากบูชาพระสหิงคพุทธรูปที่ประดิษฐานตามวัดสำคัญ ๆ ควบคู่ไปด้วยจะเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปอีก  

ปัจจุบันยังมีพระภิกษุสงฆ์และกลุ่มสล่าล้านนาที่ยังคงเขียนผ้ายันต์พระสิหิงค์กันอยู่ ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีได้แก่ สำนักอาจารย์ศรีเลา เกษพรหม ตามแบบตำราสร้างผ้ายันต์พระสิหิงค์ที่ได้มาจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพที่ 1) ตำราของครูบาคันธา คันฺธาโร วัดทาขุมเงิน จังหวัดลำพูน (ภาพที่ 2) ตำราของครูบาสุรินทร์ ฐิตวโร วัดน้ำลอก จังหวัดอุตรดิตถ์ (ภาพที่ 3) ซึ่งนิยมกันอยู่ในแถบจังหวัดแพร่ และตำราของครูบาอินสม อินฺทสรมหาเถร วัดนาเหลืองใน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน (ภาพที่ 4) นอกจากนี้ยังพบตำราสร้างผ้ายันต์พระสิหิงค์ของวัดพยากน้อย ตำบลป่าเปา อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่พบผืนผ้ายันต์กลุ่มนี้หลงเหลือให้เห็น จากการเปรียบเทียบหลักฐานที่ปรากฏ ตำราสร้างผ้ายันต์ของสำนักครูบาอินสม วัดนาเหลืองใน จ.ศ. 1256 (พ.ศ. 2433) น่าจะเป็นตำรายันต์พระสิหิงค์เก่าที่สุดในกลุ่มนี้

ตำราสร้างผ้ายันต์ดังกล่าวมานี้สามารถจัดเป็นกลุ่มเดียวกันได้ เพราะมีลักษณะที่เหมือนกันทั้งในแง่ของรูปแบบ เนื้อหา และคาถาที่ใช้ ทั้งยังมีการวางโครงสร้างเนื้อเรื่องทำนองเดียวกัน คือเริ่มตั้งแต่วันบดน้ำแต้ม การแต้ม การสรุปผ้ายันต์พระสิหิงค์และเครื่องประกอบพิธี และวิธีการใช้ผ้ายันต์พระสิหิงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดของเครื่องบูชา และวิธีการใช้ผ้ายันต์พระสิหิงค์ ยังถือเป็นลักษณะเฉพาะของตำราล้านนาชุดนี้ได้

ความนิยมผ้ายันต์พระสิหิงค์ของคนล้านนาน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยันต์มัณฑละรูปวงกลมที่พม่าเรียกว่า แซดอิ้นตงแท็ด หรือยันต์จักรสามชั้น เช่นที่ปรากฏบนเพดานถ้ำที่โพวินต่าวง์ และตามวัดต่าง ๆ ที่อัมเมียตและส่าลีนจี ในลุ่มน้ำชินวิน จัดอยู่ในศิลปะหญ่าวยันระยะสุดท้าย กำหนดอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งมีอายุเก่ากว่าตำราสร้างยันต์พระสิหิงค์ล้านนา จากการเปรียบเทียบแม้ว่าภาพยันต์ทั้งสองกลุ่มล้วนมีแบบแผนกระบวนยันต์ร่วมกัน แต่ยันต์พระสิหิงค์ก็มิได้ลอกเลียนแบบกระบวนยันต์จักรสามชั้นโดยตรง หากมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเป็น 2 สายอย่างมีนัยยะ

สัมพันธบทของยันต์จักรสามชั้นพม่ากับยันต์พระสิหิงค์ล้านนาในยุคฟื้นฟูบ้านเมือง น่าจะเกิดขึ้นภายหลังที่อังกฤษและคนในบังคับ ทั้งที่เป็นพม่า มอญ ไทใหญ่ และปะโอ (ต่องสู้) เข้ามาติดต่อค้าขายกับล้านนานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2372 เป็นต้นมา โดยได้เข้ามาเป็นผู้สร้างและอุปถัมภ์วัดวาอารามต่าง ๆ ตามหัวเมืองสำคัญ ๆ จนเกิดการปรับเปลี่ยนมาเป็นยันต์พระสิหิงค์แบบล้านนาเอง การฟื้นฟูคติการบูชาพระสิหิงคพุทธรูปและคาถาปฐมังซึ่งเคยรุ่งเรื่องในยุคทองล้านนา ดังตัวอย่างหลักฐานพระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 สำริดองค์หนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ซึ่งจารึกที่ฐานพระระบุว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2339 ตรงกับปีที่พระยากาวิละกลับจากเวียงป่าซางเข้ามาฟื้นฟูเมืองเมืองเชียงใหม่ อันอาจเป็นตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดคติการบูชาผ้ายันต์พระสิหิงค์



ผ้ายันต์พระสิงหิงค์ ผืนที่1 -
Read more
ภาพที่ 1 ผ้ายันต์พระสิงหิงค์ ผืนที่1

ผ้ายันต์พระสิงหิงค์ ผืนที่2 -
Read more
ภาพที่ 2 ผ้ายันต์พระสิงหิงค์ ผืนที่2

ผ้ายันต์พระสิงหิงค์ ผืนที่3 -
Read more
ภาพที่ 3 ผ้ายันต์พระสิงหิงค์ ผืนที่3

ผ้ายันต์พระสิงหิงค์ ผืนที่4 -
Read more
ภาพที่ 4 ผ้ายันต์พระสิงหิงค์ ผืนที่4

+