0
Cart: $0.00

สมัยราชวงศ์มังราย

          จิตรกรรมล้านนากลุ่มนี้จัดเป็นงานจิตรกรรมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด คือระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 เป็นงานในวัฒนธรรมหลวงที่มีกษัตริย์หรือราชสำนักเป็นผู้อุปถัมภ์  ในภาพรวมจึงมีรูปแบบ คตินิยม และมาตรฐานงานช่างที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภาคกลางคือ ศิลปะสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น ตลอดจนการรับแบบอย่างจากภายนอก อาทิ ลังกา พุกาม และจีน  จากการติดต่อกันในด้านศาสนา การค้า และการเมือง มีหลายปัจจัยตั้งแต่พญากือนานิมนต์พระสุมนเถระจากสุโขทัยเพื่อมาตั้งพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ในเชียงใหม่ ต่อมามีการเดินทางไปลังกาโดยคณะสงฆ์เชียงใหม่นำโดยพระมหาธรรมคัมภีร์  การไปแสวงบุญรวมถึงดูความยิ่งใหญ่ของงานช่างที่อาณาจักรพุกาม  ความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตทำให้เกิดการรับอิทธิพลศิลปะจีน  ไม่ว่าจะเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา ลายเมฆ ภาพสัตว์ แม้แต่กรอบลูกฟักหรือลายช่องกระจกที่นิยมในช่วงเวลานั้น  ลายดอกโบตั๋นพบทั้งในสุโขทัย อยุธยา และเชียงใหม่  ซึ่งเห็นอย่างชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันตามลักษณะเฉพาะของแต่ละสกุลช่าง

          ความโดดเด่นของจิตรกรรมล้านนาสมัยราชวงศ์มังราย ปรากฏในงานทุกประเภท ทั้งจิตรกรรมฝาผนัง พระบฏ และพระพุทธบาท ในด้านรูปแบบและฝีมือช่างสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นล้านนายุครุ่งเรือง โดยมีเนื้อหาของพุทธศาสนากระแสหลัก ได้แก่ พระอดีตพุทธ  พุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์  คติจักรวาล มงคล 108 ในรอยพระพุทธบาท  ส่วนด้านวัสดุและเทคนิคมีตัวอย่างนวัตกรรมการสร้างภาพ 2 มิติ ด้วยการประยุกต์เทคนนิคงานเครื่องรักประดับมุก กระจกสี และลายรดน้ำ ซึ่งเป็นประณีตศิลป์ของจีนมาใช้กับเนื้อหาและการออกแบบของล้านนาได้อย่างลงตัว  ภาพเขียนสีมีการใช้สีแบบพหุรงค์ คือพบสีเขียวและสีน้ำเงินร่วมกับสีแดง สีน้ำตาล ขาวและดำ  ซึ่งในงานจิตรกรรมภาคกลางช่วงเวลาเดียวกันพบว่า ยังเป็นโครงสีแบบเอกรงค์ เป็นต้น

จิตรกรรมฝาผนังล้านนาเก่าที่สุดเท่าที่มีหลักฐานคือ ลายเส้นภาพอดีตพุทธบนพื้นทองในกรุเจดีย์วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันลบเลือนมาก ที่พอจะเห็นได้เป็นลวดลายเขียนสีประดับผนังอุโมงค์หรือถ้ำวิหาร ขณะที่พระบฏขนาดใหญ่ 2 ผืนจากเมืองฮอดเก่าสามารถเห็นทั้งภาพรวมและรายละเอียดที่สวยงามในสภาพเก่าและชำรุดมาก ส่วนจิตรกรรมที่สภาพดีกว่าสืบเนื่องจากวัสดุที่ใช้คือ พระพุทธบาทไม้ประดับมุกวัดพระสิงห์ และภาพสลักลายเส้นรูปมงคล 108 บนพระพุทธบาทหินชนวนวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา



1A0101 จิตรกรรมฝาผนังกรุเจดีย์วัดอุโมงค์
Read more
1A0101 จิตรกรรมฝาผนังกรุเจดีย์วัดอุโมงค์

1A0201 ภาพเขียนสีวิหารถ้ำ วัดอุโมงค์
Read more
1A0201 ภาพเขียนสีวิหารถ้ำ วัดอุโมงค์

1A0301 พระบฏวัดเจดีย์สูง
Read more
1A0301 พระบฏวัดเจดีย์สูง

1A0401 พระบฏวัดดอกเงิน
Read more
1A0401 พระบฏวัดดอกเงิน

1A0501 พระพุทธบาทไม้ประดับมุก วัดพระสิงห์
Read more
1A0501 พระพุทธบาทไม้ประดับมุก วัดพระสิงห์

+