0
Cart: $0.00

วัดปงสนุก หรือวัดปงสนุกเหนือ ตั้งอยู่ในเขต ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองโบราณเขลางค์นคร ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีหลักฐานการบูรณะซ่อมแซมครั้งสำคัญราว พ.ศ. 2429-2430 ต่อมาราวปี พ.ศ. 2546-2547 มีการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์จึงทำให้มีการค้นพบพระบฏที่ใช้ประกอบพิธีเทศน์มหาชาติ รวมทั้งหมดจำนวน 57 ผืน ซึ่งชุดแรกนี้เขียนบนกระดาษสา จำนวน 34 ผืน แต่จะพบว่ามีอยู่ 2 ผืนที่มีลักษณะการเขียนลายเส้นที่แตกต่างจากผืนอื่น ๆ และบางส่วนไม่ทราบถึงผู้เขียนภาพ พระบฏวัดปงสนุกเขียนภาพเล่าเรื่อง นิบาตชาดก ตอน เวสสันดรชาดก อีกทั้งมีการเขียนจารึกบรรยายเป็นอักษรธรรมล้านนาประกอบด้วย รูปแบบงานจิตรกรรมแสดงถึงความหลากหลายของอิทธิพลทางศิลปะที่รับเข้ามา ปรากฏทั้งศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ผสมผสานศิลปะล้านนาเข้าด้วยกัน ลักษณะของการเขียนภาพบุคคลทั้งลายเส้นของใบหน้า ลีลาท่าทาง การแต่งกายของชนชั้นกษัตริย์แสดงอิทธิพลแบบรัตนโกสินทร์ และบุคคลที่เป็นสตรีชั้นสูงจะนุ่งซิ่นแบบล้านนาแต่ว่าจะสวมศิราภรณ์และเครื่องประดับตามแบบจิตรกรรมไทยประเพณี เหล่าทหารต่าง ๆ ก็เฉกเช่นเดียวกัน บางภาพก็แสดงอิทธิพลตะวันตกอันส่งผ่านมาจากกรุงเทพอีกที เป็นลักษณะการแต่งกายของทหารอย่างการสวมหมวก รวมถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทพระราชวัง อาศรม ภูเขา โขดหิน ราชรถ หรือต้นไม้ก็เป็นการเขียนเลียนแบบจิตรกรรมไทยประเพณี

นอกจากนี้จุดเด่นของภาพพระบฏวัดปงสนุก คือ การแบ่งภาพออกเป็นสองส่วนซึ่งส่วนบนเขียนเป็นภาพเล่าเรื่องเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ ส่วนตอนล่างเป็นเชิงผ้าลายพรรณพฤกษาเลื้อยคดโค้งไปมา คล้ายลวดลายในงานสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะเป็นในส่วนเชิงเสาหรือตาม ขื่อ คาน ของอาคาร เป็นลวดลายที่แสดงถึงอิทธิพลจากไทยภาคกลาง อีกทั้งช่างเลือกใช้สีแดงอมส้มเป็นหลักเพื่อตัดกับสีที่ใช้ระบายในภาพเล่าเรื่องส่วนบนอีกด้วย  ภาพพระบฏบนกระดาษสาชุดนี้มีการใช้สีจำนวนมาก มีทั้งผืนที่ปล่อยพื้นที่ว่างเป็นสีขาวและบางผืนได้ลงสีพื้นแบบไล่น้ำหนักอ่อนแก่ เช่น ท้องฟ้าจะใช้สีน้ำเงินเข้มหรือสีฟ้าไล่โทนสี พื้นดินใช้สีน้ำตาลหรือสีเขียวไล่น้ำหนักเข้ม - อ่อน ช่างเลือกใช้สีแดง ส้ม เหลืองในการลงสีตัวบุคคล หรือสถาปัตยกรรมที่ต้องการเน้น ทำให้จุดที่ต้องการเน้นมีความโดดเด่นออกมาจากพื้นหลัง มีการตัดเส้นสีดำที่บางและละเอียด การใช้แปรงแตะเพื่อทำเป็นพุ่มต้นไม้ และในส่วนการจัดองค์ประกอบภาพนั้นบางผืนมีการแบ่งเหตุการณ์การออกเป็นสองฉากด้วยกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน โดยช่างใช้กำแพง โขดหิน ภูเขาในการกั้นฉาก



หิมพานต์ ผืนที่ 2 วัดปงสนุก
Read more
ภาพที่ 5 หิมพานต์ ผืนที่ 2

+