พระบฏของวัดห้วยหม้าย ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีจำนวน 2 ชุด รวม 24 ผืนภาพ ขนาดกว้างราว 65 เซนติเมตร สูงราว 85 เซนติเมตร ชุดแรกถ่ายทอดเรื่องราวของพระมาลัยและพระเวสสันดรชาดก รวม 15 ผืน อีกชุดเป็นทศชาติชาดกของชาติที่เหลืออีก 9 ผืน ซึ่งไม่ปรากฏเรื่อง นารทชาดก หากแต่อีกผืนเขียนเป็นภาพพุทธประวัติตอน มหาภิเนษกรมณ์หรือเสด็จออกบวช
รูปแบบของพระบฏชุดนี้มีรูปแบบการเขียนที่เลียนแบบจิตรกรรมไทยประเพณีอย่างชัดเจน ตั้งแต่ลายเส้นของภาพบุคคลซึ่งการเขียนใบหน้าและเครื่องแต่งกายเป็นไปตามแบบนาฏยลักษณ์ของไทยภาคกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพกษัตริย์หรือชนชั้นสูง แต่ว่าภาพชาวบ้านก็ยังคงมีการเขียนแทรกการแต่งกายแบบภาคเหนืออยู่บ้างอย่างการนุ่งซิ่นและมวยผม ต่อมาเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏซึ่งส่วนใหญ่เขียนเป็นลักษณะที่เรียกว่า แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 เนื่องจากมีการผสมผสานศิลปะไทยและศิลปะจีนเข้าด้วยกัน จากลักษณะหน้าบันมีประดับด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสี และมีทั้งหลังคาทรงยอดแหลมประดับตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามแบบไทยประเพณี รวมถึงแบบของประตูและกำแพงพระราชวังที่มีการเขียนให้ภาพมีมิติตื้นลึกตามหลักองค์ประกอบและทัศนียภาพแบบตานกมอง (Bird eye view) การเขียนฉากป่าก็เขียนภูเขา โขดหินซ้อนทับกันให้เกิดเป็นมิติมากขึ้น
เทคนิคการวาดใช้สีฝุ่นแบบโบราณบนผ้าสีครีม ใช้โทนสีธรรมชาติ อาทิ แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน น้ำตาล ขาว ดำและทอง และจะสังเกตว่าภาพพระบฏในยุคสมัยนี้มีการเลือกใช้สีที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นทำให้ภาพมีสีสันสดใส ส่วนใหญ่จะลงสีพื้นเป็นสีเข้มเพื่อเน้นให้ส่วนสำคัญของภาพอย่างตัวบุคคลหรือสถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น และยังคงระบายสีลงน้ำหนักเดียวแบบจิตรกรรมไทยภาคกลางยังไม่พบการไล่สีอ่อนเข้มแบบตะวันตก ในส่วนของลายเส้นและรายละเอียดของภาพมีความประณีตทั้งใบหน้า เครื่องแต่งกายและสถาปัตยกรรม อีกทั้งต้นไม้จะใช้เทคนิคการแต้มเป็นกลุ่ม ๆ ใช้สีดำในการตัดเส้นภาพทั้งหมด ส่วนใหญ่ยังปรากฏจารึกอักษรธรรมล้านนาเขียนอธิบายภาพไว้ด้วย