วัดทุ่งคา ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งคา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง วัดทุ่งคามีพระบฏซึ่งเขียนบนผืนผ้า ทั้งหมด 28 ภาพด้วยกัน เขียนนิบาตชาดก เรื่อง เวสสันดรครบทุกกัณฑ์ พระบฏชุดนี้เขียนโดย หลวงพ่อคำป้อ อุดหนุน ผลงานของหลวงพ่อคำป้อมีหลายวัดด้วยกัน เช่น ภาพพระบฏวัดวัดทุ่งฮ้างศรีดอนมูล ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง จิตรกรรม ฝาผนังวัดบ้านก่อ ต.ทรายคำ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง และจิตรกรรมฝาผนังวัดทุ่งฝูง ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง
อายุเวลาพระบฏชุดนี้ตามจารึก คือ ปี พ.ศ.2447 หรือช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ดังนั้น รูปแบบงานศิลปะก็จะมีความหลากหลาย นอกจากศิลปะแบบล้านนาแล้วยังแสดงถึงอิทธิพลศิลปะแบบไทยภาคกลาง และแทรกมาด้วยอิทธิพลแบบตะวันตกและศิลปะพม่า ปรากฏให้เห็นในลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีทั้งเรือนชาวบ้านแบบเรือนเครื่องผูก ปราสาทพระราชวังแบบล้านนาและปราสาทยอดทรงพม่าปรากฏในภาพพระบฏผืนหนึ่งตอนนครกัณฑ์ ซึ่งความวิจิตรประณีตของสถาปัตยกรรมก็จะขึ้นอยู่กับความสำคัญหรือฐานันดรศักดิ์ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นในด้านการแต่งกายด้วยซึ่งมีทั้งแบบล้านนา แบบไทยภาคกลาง แบบตะวันตกและชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพบริบททางสังคมในยุคสมัยนั้น
ลักษณะของภาพพระบฏวัดทุ่งคาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งภาพเป็นตอน ๆ ของแต่ละกัณฑ์ในนิบาตชาดกเรื่องเวสสันดรพร้อมทั้งมีอักษรล้านนาระบุรายละเอียดของภาพนั้น ๆ ด้วย ซึ่งในผืนหนึ่งนั้นก็จะปรากฏเหตุการณ์หลายตอนต่อเนื่องกัน ช่างมักใช้ต้นไม้หรือเนินเขาในการแบ่งฉาก และเลือกใช้สีน้ำเงิน สีแดงอมส้ม สีดำ สีน้ำตาลเข้ม และสีเขียวเป็นหลัก หากมองภาพโดยรวมจะเห็นว่าสีน้ำเงินและสีแดงอมส้มจะมีความโดดเด่นกว่าสีอื่นซึ่งเป็นสีตรงกันข้ามกันเกิดเป็นจุดเด่นของภาพชุดนี้ และส่วนมากจะปล่อยฉากพื้นหลังของภาพให้โล่งไม่ระบายสีแต่บางภาพก็ลงสีแบบอ่อนโดยฝีแปรงพู่กันแบบหยาบ ๆ ตามเอกลักษณ์การวาดของหลวงพ่อคำป้อ