วัดทุ่งฮ้างศรีดอนมูล ตั้งอยู่เลขที่ 108 บ้านทุ่งฮ้าง หมู่ 1 ตำบลทุ่งผึ่ง อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง วัดแห่งนี้มีภาพพระบฏที่ใช้ในพิธีตั้งธรรมหลวงเทศน์มหาชาติ มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีแล้วนำออกมาใช้เมื่อมีงานเท่านั้น โดยติดไว้โดยรอบอาคารประกอบพิธีกรรม พระบฏมีทั้งหมด 2 ผืน เป็นภาพจิตรกรรมแบบเล่าเรื่องโดยเขียนเรื่องพระมาลัยและพระเวสสันดรชาดก ผู้วาดนั้นสันนิษฐานว่า คือ หลวงพ่อคำป้อ อุดหนุน เนื่องจากมีรูปแบบการวาดแบบเดียวกับวัดบ้านก่อและวัดทุ่งคา ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการวาดแบบศิลปะพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์มาก
ลักษณะของพระบฏดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นผืนยาว การลำดับภาพจึงเริ่มดูจากด้านขวามาทางซ้าย โดยผืนแรกเริ่มจากเขียนเรื่องพระมาลัย (ต้น) ต่อด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดกตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ทศพรจนถึงกัณฑ์ที่ 9 มัทรี ผืนที่สองเริ่มเขียนในกัณฑ์ที่ 10 สักบรรณ จนถึงกัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์และปิดท้ายด้วยภาพในนรก อีกทั้งมีจารึกที่เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา (ตั๋วเมือง) กำกับภาพแต่ละกัณฑ์อีกด้วย ซึ่งรูปแบบภาพพระบฏแห่งนี้เป็นงานศิลปะล้านนาแบบร่วมสมัย อายุเวลาน่าจะไม่เก่าไปกว่าปี พ.ศ.2484 สันนิษฐานจากอายุเวลาของจิตรกรรมวัดบ้านก่อที่หลวงพ่อคำป้อได้วาดไว้ในปีดังกล่าว
ลักษณะที่โดดเด่นของภาพพระบฏวัดทุ่งฮ้างศรีดอนมูล คือ เป็นฝีมือช่างชาวบ้านแบบศิลปะพื้นบ้านที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ในเรื่องรูปแบบและความประณีตเฉกเช่นเดียวกับฝีมือของงานช่างหลวง หากแต่ว่างานจิตรกรรมแบบพื้นบ้านนี้ก็มีความสวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง ภาพวาดของหลวงพ่อคำป้อได้สะท้อนภาพวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น และยุคการเข้ามาของวัฒนธรรมกรุงเทพที่มาพร้อมกับความเจริญในหลายด้านนำมาซึ่งแรงบันดาลใจในการวาดภาพ ทั้งการแต่งกายที่มีความทันสมัยและได้รับความนิยมในยุคนั้น เช่น การสวมกางเกงขาบาน ผู้หญิงทำผมโป่งพอง ผู้ชายใส่เสื้อคลุมกันหนาว มียานพาหนะ การแต่งกายของทหารตามแบบกรุงเทพ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนล้านนาที่สะท้อนออกมาในงานจิตรกรรมสมัยนี้
การวาดนั้นใช้เทคนิคการเขียนสีฝุ่น มีการใช้สีที่มีความสมัยใหม่มากขึ้น เช่น สีน้ำเงินและสีส้ม แต่ก็ยังมีการใช้สีแบบเดิมจากธรรมชาติอยู่เช่นกัน จะเห็นว่าสีหลักที่มีความเด่นชัดในภาพพระบฏผืนนี้คือ สีน้ำเงิน สีน้ำตาล และสีส้มที่มาตัดกันทำให้ภาพวาดโดดเด่นและมีสีสัน ลักษณะการตัดเส้นจะใช้สีน้ำตาลเป็นหลักและสีดำบางแห่งกับตัวหลักของภาพ คือ บุคคลและสถาปัตยกรรม ส่วนเทคนิคการลงสีเห็นได้ชัดเจนกับสีพื้นดินและท้องฟ้า มีการเขียนขอบเส้นที่หนาและไล่ระดับสีเข้มอ่อนด้วยฝีแปรงพู่กันหยาบๆตามแบบงานช่างพื้นบ้าน ส่วนท้องฟ้าก็ใช้พู่วาดเป็นก้อนเมฆสีน้ำเงิน แล้วผืนฟ้าก็ไล่ระดับความเข้มอ่อนเช่นกัน ส่วนพุ่มไม้ใช้เทคนิคการจุ่มสีแล้วแตะหรือกระทุ้งพู่กัน
นอกจากอิทธิพลรูปแบบการวาดจิตรกรรมไทยประเพณีและวัฒนธรรมความสมัยใหม่ของภาคกลางแล้ว ยังปรากฏรูปแบบศิลปกรรมแบบพม่าอีกด้วยในงานสถาปัตยกรรมอย่างการซ้อนชั้นหลังคาของปราสาทแบบพม่าในบางฉาก