พระบฏวัดบ้านเอื้อม เป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ มีทั้งหมด 35 ผืน และยังมีจารึกระบุไว้ว่าสร้างขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีอายุถึง 5000 ปี โดยใช้ในพิธีกรรมตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติ ลักษณะทางศิลปกรรมจะใช้วัสดุเป็นผ้าฝ้ายไม่ฟอกสี รองพื้นด้วยดินสอพอก ใช้เทคนิคสีฝุ่น ซึ่งเป็นสีที่ได้จากแร่และดินในธรรมชาติผสมกับยางไม้ที่เรียกว่า กาวกฐิน เพื่อยึดเกาะสีฝุ่นให้ติดกับผืนผ้า ช่างเลือกใช้สีครามและสีแสด หรือสีแดงและสีเขียวเป็นคู่สีหลัก อีกทั้งยังพบสีอื่น ๆ ในงาน ได้แก่ สีดำ สีเทา สีเขียวตังแก สีเหลืองทอง สีน้ำตาลและสีขาว ลักษณะการตัดเส้นนิยมตัดบุคคลด้วยสีน้ำตา]ตัดลายทองด้วยสีแดงชาด ตัดเส้นดำกับสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังปรากฏอักษรธรรมล้านนาเขียนกำกับเพื่ออธิบายภาพในแต่ละฉากไว้อีกด้วย
เทคนิคพิเศษ คือ การไล่สีหรือการโฉบสีซึ่งนิยมโฉบที่สีโขดหินและชั้นดิน มีการกระทุ้งสีที่ใช้การเขียนภาพต้นไม้ขนาดใหญ่ ส่วนอัตลักษณ์ของฝีมือช่าง คือ ช่างเขียนเส้นที่เบา การตัดเส้นแบบงานจิตรกรรมไทย เป็นการใช้เส้นที่เล็กและคมกับตัวภาพสำคัญ ใช้เส้นหนักกับสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม การทิ้งพื้นขาวแบบช่างพื้นบ้าน ใช้คู่สีที่จัดจ้าน คือ สีส้มและสีน้ำเงิน ทำให้งานมีความโดดเด่นสดใส อีกทั้งมีการใช้สีที่เลียนแบบธรรมชาติมากขึ้นด้วย ลักษณะเด่นที่สำคัญอีกประการ คือ มีลายกรวยเชิงในตอนล่างทุกผืนซึ่งแต่ละผืนก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ประกอบด้วยแถบหน้ากระดานคั่นก่อนต่อด้วยลายดกรวยเชิงคล้ายหางตุง เช่นเดียวกับชายผ้าซิ่นของชาวล้านนา
รูปแบบและลักษณะทางศิลปกรรมที่ปรากฏในงานจิตรกรรมภาพพระบฏนี้ ได้รับอิทธิพลจากไทยภาคกลางมาผสมผสานกับรูปแบบช่างล้านนา ปรากฏให้เห็นเด่นชัด อาทิ สถาปัตยกรรมและการแต่งกาย รวมถึงเทคนิคและการจัดวางองค์ประกอบภาพ