จิตรกรรมล้านนากลุ่มที่สองมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22-ต้น 24 เป็นช่วงที่อาณาจักรล้านนาเสียเอกราชให้กับพม่า พบแหล่งงานจิตรกรรมจำนวนไม่มากนักอยู่ในพื้นที่นอกเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากไม่มีชนชั้นปกครองหรือราชสำนักเป็นผู้อุปถัมภ์โดยตรง ผลงานโดยรวมไม่แสดงพัฒนาการของรูปแบบใหม่อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่มีลักษณะเดินตามแบบแผนเดิมของช่วงล้านนารุ่งเรือง โดยเฉพาะเนื้อหาที่มาจากคติความเชื่อของพุทธศาสนากระแสหลัก ได้แก่ ภาพพระอดีตพุทธ พุทธประวัติ นิบาตชาดก นิทานธรรมบทที่มีที่มาจากพระไตรปิฎก และคติจักรวาล อย่างไรก็ดีที่สำคัญมีงานประเภทที่ไม่ปรากฏตัวอย่างให้เห็นในยุคก่อนหน้าก็คือ จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในพระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารหลักของวัด คือสถานที่ที่ฆราวาสเข้าไปทำบุญไหว้พระฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นพื้นที่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ในช่วงนี้มีตัวอย่างของภาพเขียนสีที่เก่าที่สุดหลงเหลืออยู่ที่วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในช่วงสมัยพม่าปกครอง และในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ได้เป็นศูนย์กลางเครือข่ายของพระอาจารย์เดียวกัน ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากพระวิหารที่มีรูปแบบอาคารและลายคำที่ตกแต่งเป็นแบบแผนเดียวกันอย่างชัดเจน อาทิ วิหารน้ำแต้ม วิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง วิหารวัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา วิหารวัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร และวัดเวียง อำเภอเถิน เป็นต้น