จิตรกรรมล้านนา คือภาพ 2 มิติ รูปแบบและเทคนิคต่างๆ ที่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย พะเยา และแม่ฮ่องสอน โดยมีพัฒนาการของถิ่นฐานบ้านเมืองยาวนานกว่า 700 ปี ซึ่งสามารถจำแนกหลักฐานงานจิตรกรรมออกเป็น 4 กลุ่มตามช่วงเวลา คือสมัยราชวงศ์มังราย สมัยพม่าปกครอง สมัยเจ้าเจ็ดตน สมัยใหม่และร่วมสมัย
ระหว่างพ.ศ.1839-2100 งานจิตรกรรมในช่วงนี้แม้จะมีเหลืออยู่น้อย แต่พบหลายประเภททั้งจิตรกรรมฝาผนัง พระบฏ และพระพุทธบาท ล้วนเป็นผลงานที่สะท้อนตัวตนของล้านนายุคทองได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีความรุ่งเรืองอย่างมากในด้านศิลปะ พุทธศาสนาและการเมือง
ระหว่าง พ.ศ.2101-2320 เป็นช่วงที่ขาดสถาบันกษัตริย์ในการอุปถัมภ์งานช่าง จิตรกรรมจำนวนไม่มากพบอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ บริเวณที่เป็นศูนย์รวมจิตใจหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่น อาทิ พระธาตุลำปางหลวง พระพุทธบาทหัวเสือ(ไม่ไกลจากวัดพระธาตุจอมทอง) เมืองฮอดเก่า หรือวัดในเครือข่ายของพระเถระสำคัญ ได้แก่ วัดไหล่หินและวัดปงยางคก งานจิตกรรมช่วงนี้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงหรือสืบทอดจากยุคล้านนารุ่งเรือง ที่มีพระพุทธศาสนากระแสหลักเป็นฐาน อาทิ ภาพอดีตพุทธ พุทธประวัติ ฉากจักรวาล ภาพเล่าเรื่องจากนิบาตชาดก และธรรมบทในพระไตรปิฎกมากว่าชาดกนอกนิบาตที่นิยมเขียนในยุคต่อมา
ระหว่าง พ.ศ.2320-2470 คือยุคที่ล้านนามีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ ภายใต้การปกครองของตระกูลเจ้าเจ็ดตน การพัฒนาบ้านเมืองในช่วงนี้ส่งผลให้ประชากรของล้านนาประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนออกมาในความหลากหลายของรูปแบบและฝีมือช่างในงานจิตรกรรม ทั้งแบบพื้นเมือง พื้นบ้าน แบบที่มากับช่างจากภายนอก อาทิ ไทยภาคกลาง พม่า-ไทใหญ่ และที่ผสมผสานขึ้นใหม่ในแต่ละท้องถิ่น งานจิตรกรรมช่วงนี้มีจำนวนมาก กระจายอยู่ตามหัวเมืองสำคัญและอำเภอรอบนอก ประกอบด้วยจิตรกรรมฝาผนัง พระบฏ และหีบธรรม
ระหว่าง พ.ศ.2470-ปัจจุบัน คือช่วงเปลี่ยนผ่านแบบประเพณีตอนปลายในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25 ที่งานจิตรกรรมจะเน้นความสมจริงตามตาเห็น โดยเฉพาะการเขียนให้มีความลึกแบบเปอร์สเปคทีปซึ่งเป็นมุมมองแบบสมัยใหม่ของช่างพื้นเมืองที่เดินตามกรุงเทพฯราว 50 ปี ขณะที่แบบร่วมสมัยหมายถึงผลงานของศิลปินยุคปัจจุบันที่มาสร้างงานจิตรกรรมให้กับวัด ทั้งในและนอกเขตเมือง ลักษณะความเป็นล้านนามีความหลากหลายตามแนวทางของแต่ละคน ตั้งแต่การเน้นเนื้อหาที่เป็นท้องถิ่น รูปแบบล้านนาในสไตล์ของตัวเอง หรือการนำวัสดุ-เทคนิคแบบโบราณมาปรับใช้ อาทิ จิตรกรรมลายทอง และงานประดับกระจกสี เป็นต้น